
เพลงโคราช เป็นการร้องเพลงโต้ตอบที่พัฒนามาเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวจังหวัดนครราชสีมา หรือ โคราช ซึ่งได้สืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน มีเอกลักษณ์อยู่ที่การร้องรำเป็นภาษาโคราช ในสมัยก่อนเพลงโคราชเป็นที่นิยมมาก การแสดงมหรสพต่างๆ มีเพลงโคราชเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันค่านิยมของผู้ฟังเพลงโคราชเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบการแสดง และความนิยมของคนโคราชเอง เนื้อหาของเพลงโคราชขึ้นอยู่กับโอกาสที่จะเล่น ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่อง นิทานชาดก และเคร่งครัดมากในเรื่องสอนศีลธรรม หมอเพลงโคราชในอดีต ทำหน้าที่เป็นผู้แพร่ข่าวสาร เพราะเป็นผู้มีประสบการณ์กว้างไกล พบเห็นเหตุการณ์และผู้คนหลากหลาย เพลงโคราชและคนฟังเพลงโคราชในอดีต จึงมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะเป็นคนในสังคมเดียวกันจึงเข้าใจปัญหาของกันและกัน แต่เพลงโคราชรุ่นใหม่ มักเล่นตามคำเรียกร้องของผู้ฟังเพื่อความเพลิดเพลิน และสนุกสนาน ด้วยเหตุนี้ เพลงโคราชค่อยๆเสื่อมความนิยมลง แต่ในปัจจุบันยังมีความเชื่อว่า ท้าวสุรนารีในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่(พ.ศ. ๒๓๑๓-๒๓๙๕) ท่านชอบเพลงโคราชมาก จึงมีผู้หาเพลงโคราชไปเล่นแก้บน ณ บริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีในตอนกลางคืนและกลางวันเป็นประจำ และยังมีอีกที่คือวัดศาลาลอย จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หมอเพลงโคราช ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ยังคงสามารถประกอบอาชีพอยู่ได้ ตัวอย่างคณะเพลงโคราชที่โดดเด่นอยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาคือคณะ กำปั่นบ้านแท่น นั้นเอง