
จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มอาศัยอยู่จึงทำให้เกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมมากมาย ทั้งด้านความเป็นอยู่ การแต่งกาย การละเล่น ประเพณี ความเชื่อ รวมถึงการใช้ภาษา แม้ในปัจจุบันจะมีบางกลุ่มชาติพันธุ์ที่เริ่มจะถูกกลืนไปบ้าง แต่ในสำนึกของกลุ่มคนชาติพันธุ์ดั้งเดิมนั้นก็ตระหนักเห็นความสำคัญในวัฒนธรรมของตนของบรรพบุรุษและพยายามที่จะอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่กับชุมชน ดังเช่น ภาษาถิ่น อาทิ ภาษาไทยโคราช ภาษาไทยลาว ภาษามอญ ภาษาไทยยวน และภาษาชาวบน เป็นต้น
ภาษาโคราช
ภาษาโคราชเป็นภาษาพูดของกลุ่มวัฒนธรรมไทโคราชที่โดดเด่นที่สุดบางครั้งไทโคราชจะถูกเรียกว่า ไทเบิ้ง หรือ ไทดา ซึ่งคนโคราชไม่ค่อยพอใจนัก คำว่า เบิ้ง มีความหมายเดียวกับ บ้าง เดิ้ง ดา มีความหมายเดียวกับ ด้วย ภาษาโคราชมีลักษณะของการผสมผสานระหว่างภาษาไทยกลาง ภาษาอีสานและภาษาเขมร คำศัพท์พื้นฐานจะเป็นภาษาไทยกลางที่มีสำเนียงเพี้ยนไปจากเดิม เช่น อะไร เพี้ยนเป็น ไอ หรือ แมงไอ หรือ ไอ๋ หรือ ไอเยอ คำว่า ดูเถอะ เพี้ยนเป็น ดูท๊วะ แต่กระนั้นภาษาโคราชก็มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ดังนี้
๑. คำศัพท์ภาษาโคราช พูดถึงวงศ์ศัพท์หรือคำศัพท์ภาษาโคราชเป็นคำศัพท์ที่น่าจะผสมมาจากภาษาไทยกลาง ภาษาอีสาน ภาษาเขมร เกิดเป็นคำศัพท์ที่ใช้เฉพาะกันในโคราช เช่น ฝนละลึม หมายถึง ฝนตกปรอยๆ เดินดีๆ ระวังจะต๊กตะลุก ตะลุก หมายถึง หลุมเล็กๆ ซึ่งเป็นคำศัพท์ภาษาเขมร เอาของไปเมี่ยน คำว่า เมี่ยน เป็นภาษาอีสาน หมายถึง เก็บ บางทีพูดว่า เก๊บมั่ก เก๊บเมี่ยน
๒. สำเนียงโคราช เสียงหรือสำเนียงภาษาโคราช เป็นสำเนียงที่แปร่งๆ หรือเพี้ยนไปจากเสียงหรือสำเนียงภาษาไทยกลาง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดสำหรับผู้พูดภาษาไทยกลาง
ภาษาไทยกลาง ออกเสียงตรี ภาษาโคราชออกเสียงโท ตัวอย่างเช่น
ม้า เป็น ม่า ช้า เป็น ช่า
ค้า เป็น ค่า ชู้ เป็น ชู่
ภาษาไทยกลาง ออกเสียงโท ภาษาโคราชออกเสียงเอก ตัวอย่างเช่น
หน้า เป็น หน่า ข้า เป็น ข่า
คอยท่า เป็น คอยถ่า หนี้ เป็น หนี่
ภาษาไทยกลางออกเสียงสามัญ(อักษรกลาง) ภาษาโคราชออกเสียงสามัญหรือจัตวา ตัวอย่างเช่น
กิน เป็น กิน หรือ กิ๋น
๓. สำนวนภาษาโคราช เมื่อพูดถึงคำศัพท์และเสียงแล้ว ส่วนที่ ๓ คือ สำนวน ถ้าไม่พูดถึงก็คงไม่ครบถ้วน สำนวนภาษาเป็นคำพูดที่กลั่นกรองขึ้นมาให้งดงามและสละสลวย เพื่อเป็นเครื่องมือในการเตือนสติหรือสั่งสอนอบรมทำให้มีคุณค่าทางด้านวัฒนธรรมทั้งด้านรูปธรรม คือแสดงภาพการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย และด้านนามธรรม คือ การอบรมสั่งสอนคุณธรรม จริยธรรม แก่ลูกหลาน ความงดงามสะสวยนั้นอาจมีเสียงสัมผัสหรือไม่มีเสียงสัมผัสก็ได้