
วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ ชั้น 4 เซ็นทรัลโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จัดให้มีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือการดำเนินงาน และเปิดตัวโครงการเสริมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วนแบบองค์รวมตามแนวทางยูเนสโก พื้นที่โคราชจีโอพาร์คโลกของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน ร่วมกับภาคีเครือข่ายการพัฒนา ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โคราชจีโอพาร์คโลก สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง เทศบาลตำบลพันดุง องค์การบริหารส่วนตำบลเสมา และหน่วยงานที่ร่วมเป็นสักขีพยาน ได้แก่ กองบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา สำนักจัดการทรัพยากร ป่าไม้ที่ ๘ (นครราชสีมา) สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ โคราชจีโอพาร์คโลก หมายถึง พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ในเขต 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และเฉลิมพระเกียรติ เป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศเขาเควสตาหรือเขารูปอีโต้ และฟอสซิล 3 ยุค (ยุคครีเทเชียส ยุคนีโอจีน และยุคควอเทอร์นารี) มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่เชี่ยมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ร่วมกับเอกลักษณ์อันโดดเด่นของวัฒนธรรมมนุษย์ที่สืบต่อกันมากว่า 4,000 ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์สืบเนื่องสู่ถึงปัจจุบัน ทำให้ “โคราชจีโอพาร์ค” ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “โคราชจีโอพาร์คโลก” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 และทำให้จังหวัดนครราชสีมา ได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดน 3 มรดกโลกยูเนสโก (UNESCO Triple Heritage City)” ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ประเทศของโลกเพื่อเกิดความต่อเนื่อง ในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทางของยูเนสโก จึงนำมาสู่ในการดำเนินงานขั้นต่อในการกำหนดเป้าหมายของการดำเนินงาน เพื่อการพัฒนาพื้นที่และเตรียมความพร้อมทรัพยากรบุคคล ทั้งนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนโครงการเสริมสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน แบบองค์รวมตามแนวทางยูเนสโก พื้นที่โคราชจีโอพาร์คโลกของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ปีงบประมาณ 2568 – 2569 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษา และการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน และดำเนินการจัดทำแผนการอนุรักษ์ระดับแหล่ง (Geosite) แบบองค์รวม ที่บูรณาการการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์
แหล่งที่มา ภาพ/ข่าว
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา